หากคุณเป็นคนที่พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ลองนึกหาคำที่จะมาใช้แทนคำว่า epiphany ซึ่งแปลว่าอาการที่รู้สึกตรัสรู้เรื่องอะไรขึ้นมาสักเรื่อง ณ ชั่วขณะจิตดูสิคะ… เชื่อเถอะว่าในภาษาของเรา ไม่มีคำที่จะมาใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า epiphany นี้
หรือถ้าหากคุณเป็นคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วพอตัว ลองนึกถึงคำที่จะมาอธิบายอาการที่เรานึกถึงคำพูดหรือคำตอบอะไรดี ๆ ขึ้นมาได้ก็ตอนสายไปแล้วขึ้นมาสิคะ… แน่นอนอีกเช่นกันว่า ในภาษาอังกฤษไม่มีคำเรียกปรากฎการณ์เฉพาะนี้ แต่สำหรับภาษาฝรั่งเศส เขามีวลี l’esprit de l’escalier แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “stairwell wit” (ไหวพริบจากปล่องบันได) ที่ใช้อธิบายอาการนี้ค่ะ
ยังไม่พอถ้านึกหาคำมาอธิบายอาการกินหนักหลังจากการระเบิดอารมณ์ ในภาษาเยอรมันก็ยังมีคำว่า kummerspeck แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “bacon-grief” มาอธิบายอาการนี้ หรือถ้าหากว่า เราเกิดความรู้สึกต่อคน ๆ หนึ่งว่าในภายภาคหน้าเราจะต้องตกหลุมรักคน ๆ นี้แน่ ๆ (ไม่ใช่อาการรักแรกพบแบบ love at first sight นะคะ) ภาษาใด ๆ ทั้งมวล ก็ไม่อาจอธิบายปรากฎการณ์นี้ได้ นอกจากภาษาญี่ปุ่นที่มีวลี 恋の予感 (koi no yokan) เอาไว้สำหรับอาการรู้ล่วงหน้าว่าจะตกหลุมรักนี้โดยเฉพาะ ลองนึกดูว่าถ้ากวีเอกของอังกฤษอย่าง John Keat หรือ Lord Byron รู้จักคำนี้เข้า การแต่งกลอนของเขา จะง่ายขึ้นขนาดไหนก็ไม่รู้นะคะ
มีคำอีกหลายคำค่ะ ที่ภาษาแม่ของเราหรือแม้แต่ภาษาอังกฤษก็ยังไม่มีใช้ ในภาษาไทยของเราเอง เราต้องยืมภาษาเขมร ภาษาสันสกฤษ มาใช้อธิบายสิ่งต่าง ๆ เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษที่ต้องยืมคำจากภาษาของวัฒนธรรมข้างเคียงมาใช้ อย่างเช่นการยืมคำว่า savoir faire (คำแปล) มาจากภาษาฝรั่งเศสเพราะในหมู่คนที่พูดอังกฤษเอง ก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้ในวัฒนธรรมของเขาเอง
ทำไมคุณควรเรียนภาษาต่างประเทศ?
คนที่พูด/สื่อสารได้หลายภาษาจึงมีประสาทรับรู้ที่ดีกว่าและยังสามารถจดจ่ออยู่กับข้อมูลที่สำคัญได้ดีกว่าด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมตัวละครอย่าง Sherlock Holmes ถึงเป็นผู้ที่มีปฏิภาณว่องไวเฉียบแหลม เพราะว่าเขาสื่อสารได้มากกว่าหนึ่งภาษานั่นเอง
ผู้ที่พูดได้หลาย ๆ ภาษานั้นจะคิดในกรอบคิดที่หลากหลายกว่า มีคำเปรียบเปรยที่หลายหลายและแตกต่าง ซึ่งการเรียนภาษานั้นไม่ใช่แค่การเรียนภาษา แต่เป็นการเรียนวัฒนธรรมด้วย มันจึงไม่ใช่การใช้คำที่แตกต่างเท่านั้น แต่ยังมีวิธี “เลือกใช้” คำที่แตกต่างอีกด้วย
แต่ประโยชน์ของการพูดได้หลายภาษานั้นยังไปไกลกว่าแค่การเข้าถึงแนวคิด กรอบคิด และคำเปรียบเปรยที่หลากหลายอีกนะคะ
จากผลการวิจัยแล้วเขาพบว่าผู้ที่พูดได้หลายภาษานั้นนอกจากจะทำคะแนนในการสอบมาตรฐานได้ดีทั้งวิชาคณิตศาสตร์ การอ่าน และคำศัพท์แล้ว พวกเขายังสามารถจำตารางลำดับงานหรือลิสต์ต่าง ๆ ได้ดีกว่า เหมือนกับการเรียนหลักไวยากรณ์ในการเรียนภาษา นอกจากนั้นพวกเขายังไวต่อสิ่งรอบตัวได้มากกว่า แล้วยังจดจ่อกับข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมทั้งแบ่งแยกข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกไปได้ดีกว่าอีกด้วย
นอกจากนั้นยังสามารถหลีกเลี่ยง “Cognitive trap” (กับดักทางกระบวนการรับรู้) การสะกดหรือการสรุปใจความที่สมองของเราทำเวลาเกี่ยวข้องกับภาษา (เช่นการอ่านประโยค “tihs senetcne taht is trerilby msispleld” ได้ง่ายดาย) อีกด้วย นอกจากนั้นคนที่พูดได้หลายภาษายังเป็นผู้ที่ “ตัดสินใจ” อะไรได้ดีกว่า เพราะว่าเขามีความมั่นคงในเงื่อนไขและกรอบของภาษามากกว่า หมายความว่า พวกเขาจะไม่ค่อยเอนเอียงตามคำปราศัยหาเสียงของนักการเมืองเท่าไรนัก และพวกเขายังเป็นคนที่ตระหนักรู้ถึงความฟุ่มเฟือยของภาษาอย่างการใช้อธิบายสิ่งสมมติขึ้นกับความจริงอีกด้วย เช่น การตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างเงินสมมติ (เงินที่จ่ายด้วยบัตร) กับเงินจริง ๆ ได้ชัดเจนกว่าคนที่พูดภาษาเดียว
เหตุผลที่ตัวผู้พูดภาษาอื่น ๆ (นอกจากภาษาแม่) สามารถตัดสินใจหรือมองอะไรได้ขาดก็เป็นเพราะว่าพวกเขามีระยะห่างระหว่างตัวเองกับคำต่าง ๆ ที่พวกเขาพูดในภาษาต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ภาษาแม่) ทำให้พวกเขามองภาพได้กว้าง และคิดได้ถนัดถนี่ขึ้น และที่สำคัญไปกว่านั้น คนที่เริ่มเรียนภาษาที่สอง (หรือสาม สี่…) จะมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ต่ำมาก ๆ แม้ว่าจะเริ่มเรียนในวัยผู้ใหญ่ก็ตามแต่
ผู้ที่พูดได้หลายภาษานั้น จริง ๆ แล้วจะเป็นคนที่ใส่ใจสิ่งต่าง ๆ มากกว่า และยังมีการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้อย่างหลากหลายกว้างขวาง พวกเขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ภายในเวลาเดียวกันได้ ซึ่งก็เป็นผลจากการพูดได้หลายภาษา เวลาที่สมองสลับการคิดระหว่างภาษาแรกไปภาษที่สองนั่นเอง และนั่นก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการหลงลืมหรือว่าเป็นอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี (เช่นเดียวกับการหัดคำนวณเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อม) แล้วกระบวนการป้องกันก็ไม่ได้เกิดขึ้นตอนที่พูดภาษาได้อย่างคล่องแคล่วแล้วนะคะ แต่ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่เราเริ่มเรียนภาษานั่นเอง
ฉะนั้นแค่เริ่มเรียนภาษาก็สามารถพัฒนาประสิทธิภาพของสมองได้แล้วค่ะ
นอกจากนั้นแล้วการเรียนภาษาเพิ่มยังทำให้คุณมีคำสำหรับเอาไว้บรรยายสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นอีกด้วย คราวหน้าถ้าหากว่ามีความรู้สึกหมั่นเขี้ยวอยากจะขยำขาของเด็กอ่อน ๆ ก็ลองใช้คำว่า gigil ในภาษาฟิลิปปินส์ดูนะคะ 😉
ขอบคุณที่มา www.theatlantic.com
คอมเมนต์ได้เลย!