การอ่านเป็นทักษะที่ช่วยให้เราค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้ ยิ่งอ่านได้คล่องหรืออ่านได้เร็ว ก็ยิ่งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้มาก ทักษะการอ่านจึงเป็นทักษะสำคัญที่ขาดไม่ได้ในชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเรียนระดับมหาวิทยาลัย ผู้เรียนจะต้องสืบค้นข้อมูลตำราหรืองานวิจัยต่างๆ จากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้เขียนรายงาน บทความ หรือใช้ประกอบการทำวิจัยของตัวเอง

ลองคิดดูนะครับว่าถ้านิสิตนักศึกษา หรือแม้แต่อาจารย์ อ่านภาษาอังกฤษไม่ได้ หรืออ่านได้แค่ถูไถ จะเกิดอะไรขึ้นกับวงการวิชาการของไทย ดังนั้นคนที่ยังอ่านไม่เก่ง จึงควรเร่งพัฒนาทักษะการอ่านให้ดีขึ้น วันนี้เราจะมาดูกันว่าทักษะการอ่านคืออะไร และเราจะพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร

 

การอ่านคือการทำความเข้าใจข้อความตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนสื่อต่างๆ เช่น กระดาษ (หนังสือหรือนิตยสาร หรือรูปแบบอ่านๆ ที่ตีพิมพ์โดยใช้กระดาษ) หรือจอภาพ (โพสต์ กระทู้ อีบุ๊ค อีแมกกาซีน หรือสื่ออื่นๆ ที่อ่านบนจอภาพของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มือถือ) เป็นต้น ดังนั้น การอ่านจึงประกอบด้วย 3 กระบวนการหลักๆ คือ 1) การถอดรหัสตัวอักษรให้เป็นเสียงที่เรารู้จัก (โดยออกเสียงทางปากหรือออกเสียงในใจ) 2) การนำเสียงเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกันเป็นคำ กลุ่มคำ และประโยคที่สื่อความหมายได้ 3) ทำความเข้าใจความหมายของคำ กลุ่มคำ และประโยค ที่เกิดจากเสียงเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น เวลาเราอ่านบทความภาษาอังกฤษ เราก็จะต้องผ่านด่านทั้ง 3 ด่านนี้ให้ได้ คือ 1) ถอดรหัสตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นเสียงที่เรารู้จักในภาษาอังกฤษ 2) เชื่อมโยงเสียงเหล่านั้นเป็นคำ กลุ่มคำ และประโยคที่สื่อความหมายได้ 3) ทำความเข้าใจความหมายของคำ กลุ่มคำ และประโยคดังกล่าว

หากรู้ตัวว่าทักษะการอ่านของเราไม่แข็งแรงพอ ก็ต้องมาดูว่าในบรรดาด่านทั้งสามที่เราต้องเผชิญในการอ่าน เราติดอยู่ที่ด่านไหน ให้มองว่าการอ่านก็เหมือนกับการเล่นเกม ถ้าเล่นด่านไหนไม่ผ่าน ก็หาวิธีแก้ปัญหาให้ผ่านด้านนั้นไปให้ได้

1. ถอดรหัสตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นเสียงที่เรารู้จักในภาษาอังกฤษ

สำหรับด่านแรก ให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรารู้จักเสียงในภาษาอังกฤษครบทุกเสียงหรือไม่ เพราะการอ่านออกเสียงคำต่างๆ ได้ (ไม่ว่าจะทางปากหรือในใจ) เกิดจากการรู้จักเสียงทุกเสียง และเมื่อออกเสียงได้ ก็ทำให้เราจำเสียงเหล่านั้นได้

2. เชื่อมโยงเสียงเหล่านั้นเป็นคำ กลุ่มคำ และประโยคที่สื่อความหมายได้

เมื่อจำเสียงเหล่านั้นได้ ก็นำเสียงเหล่านั้นไปร้อยเรียงเป็นคำ กลุ่มคำ หรือประโยคขึ้นมาในหัวของเราได้ ลองนึกดูว่าหากเรา “copy” คำ กลุ่มคำ หรือประโยคต่างๆ ที่เราเห็นบนสื่อมาไว้ในสมองของเราไม่ได้ เราจะนำคำ กลุ่มคำ หรือประโยคเหล่านี้ไปทำความเข้าใจความหมายได้อย่างไร และนี่คือด่านที่สอง

3. ทำความเข้าใจความหมายของคำ กลุ่มคำ และประโยคดังกล่าว

ส่วนด่านสุดท้ายเป็นเรื่องของความหมาย ให้ถามตัวเองว่า เวลาอ่านข้อความหนึ่งๆ เราเข้าใจความหมายได้ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ให้รีบสะสมคำศัพท์และสำนวนไว้ในคลังสมองตั้งแต่วันนี้ ยิ่งรู้คำศัพท์และสำนวนมาก ก็ยิ่งเข้าใจความหมายของข้อความที่เราอ่าน ทุกคนต้องหมั่นจดจำคำศัพท์และสำนวนใหม่ๆ อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ความสามารถในการอ่านคล่องและอ่านเร็วยังเกิดจากการฝึกฝนเป็นประจำด้วย เหมือนเวลานักดนตรีจะบรรเลงเพลงไหนสักเพลงให้ไพเราะและไม่สะดุด ก็ต้องฝึกซ้อมเพลงนั้นบ่อยๆ จนเล่นได้ดีนั่นเองครับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความยากของการฝึกฝนก็ต้องสอดคล้องกับความสามารถของเราในปัจจุบันด้วย เราจะพบว่าเดี๋ยวนี้มีนิยายแบบจัดระดับ (graded novels) ให้เราได้เลือกซื้อมาฝึกอ่าน โดยมีตั้งแต่ระดับผู้เริ่มต้น (beginner หรือ elementary) ไปจนถึงระดับก้าวหน้า (advanced) วิธีทดสอบว่าเราควรเลือกซื้อระดับไหนมาอ่าน คือ ให้ลองเปิดอ่านนิยายดูคร่าวๆ ระดับละ 2 – 3 เรื่อง หากว่าอ่านแล้วเข้าใจความหมายของคำศัพท์และสำนวนในนิยายระดับนั้นๆ 80 – 90 % ขึ้นไป ถือว่าเราผ่านระดับนั้นแล้ว ให้ซื้อนิยายระดับที่สูงกว่า 1 ระดับมาฝึกอ่านแทน แล้วหมั่นท่องจำสะสมคำศัพท์และสำนวนของระดับที่ว่านี้ไว้มากๆ ความสามารถในการอ่านของเราก็จะพัฒนาขึ้นจนกระทั่งก้าวข้ามระดับนั้นได้

 

หลายคนมีความสามารถในการอ่านอยู่ในระดับผู้เริ่มต้น แต่เวลาฝึกอ่านดันฝึกโดยใช้บทความที่อยู่ในระดับก้าวหน้า เช่น ข่าวธุรกิจ หรือบทความวิชาการ พอไม่เข้าใจเนื้อหาเลยสักนิด ก็รู้สึกท้อ และสร้างกำแพงปิดกั้นตัวเอง รวมถึงมีอคติต่อภาษาอังกฤษด้วย แบบนี้ก็ไม่ต่างจากนักดนตรีที่เพิ่งหัดเล่นเพลงหนูมาลีมีลูกแมวเหมียว แต่แล้วจู่ๆ ก็ข้ามขั้นไปเล่นเพลง Hungarian Rhapsody No. 2 ของ Franz Liszt แต่หากทำตามคำแนะนำที่ผมได้กล่าวไปในข้างต้น ผู้อ่านก็จะรู้สึกว่าการอ่านไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป เมื่อมองว่าไม่ยากจนเกินไป ก็จะรู้สึกว่า “เราทำได้” พอเกิดความรู้สึกแบบนี้ ก็ยิ่งอยากพัฒนาทักษะการอ่านให้ดีขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

ขอย้ำอีกรอบว่าการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญมากๆ เลยนะครับ ลองจินตนาการดูว่าถ้าคนไทยเกินครึ่งประเทศสามารถอ่านสื่อภาษาอังกฤษได้ดี ประเทศของเราจะได้ประโยชน์ในส่วนนี้มากแค่ไหน สำหรับคนที่ทักษะการอ่านยังไม่แข็งแรง ขอให้วิเคราะห์ตัวเองว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน แล้วหมั่นฝึกฝนกับพัฒนาตัวเองอยู่เป็นประจำ ถ้ารู้ตัวว่าว่างเมื่อไหร่ ก็หยิบสื่อต่างๆ เช่น นิยาย บทความ ข่าว ฯลฯ ขึ้นมาฝึกอ่าน เชื่อเถอะครับ ในไม่ช้า ทักษะการอ่านของทุกคนก็จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแน่นอน

คอมเมนต์ได้เลย!