เมื่อความสามารถด้านภาษาไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาแบบปุ๊บปั๊บ แต่เกิดจากการฝึกใช้ภาษาอย่างต่อเนื่อง จนแทบจะหายใจออกมาเป็นภาษานั้นๆ เราจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองได้คลุกคลีอยู่กับภาษาดังกล่าวอยู่เสมอ กรณีของภาษาอังกฤษก็เช่นกัน หากไม่คลุกคลีอยู่กับภาษาอังกฤษอยู่เสมอ เราจะใช้มันอย่างคล่องแคล่วก็คงเป็นไปได้ยาก
วิธีแบบนี้เราเรียกว่า Language Immersion Method คือการทำให้ตัวเองมีโอกาสได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษรอบตัวและทุกย่างก้าว (เท่าที่จะสามารถทำได้) Language Immersion Method สามารถแบ่งออกแยกย่อยได้หลายวิธี แต่วิธีที่ผมจะนำเสนอในวันนี้เป็นวิธีที่หลายๆ คนอาจนึกไม่ถึง วิธีที่ว่านี้คือ (วิดีโอ) เกม
ผมมองว่าเกมคืออีกหนึ่งช่องทางสำหรับพัฒนาภาษาอังกฤษของเราให้ดีขึ้นได้หากรู้จักใช้ให้เป็น เพราะเวลาเล่นเกม ทุกคนต้องคอยอ่านทำความเข้าใจความหมายของข้อความที่ปรากฏในเกมเพื่อทำภารกิจอะไรสักอย่างให้สำเร็จลุล่วง การเข้าใจข้อความดังกล่าวจะช่วยให้ทำภารกิจนั้นๆ สำเร็จได้เร็วขึ้น ต่างจากคนที่เล่นเกมแบบ “คลำหาทางออกไปเรื่อย” นอกจากนี้ เกมยังเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้เล่น (และผู้เรียนรู้ภาษา) ได้ดีกว่าสื่อหลายๆ ประเภทอีกด้วย เพราะเล่นแล้วเพลิน ดังนั้น เกมจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาภาษาในแบบ Language Immersion Method และเป็นสิ่งที่ทำได้เรื่อยๆ ไม่น่าเบื่อ
รูปจาก www.thaithesims4.com
เกมที่ทำให้จดจำคำศัพท์ได้มาก ได้แก่ เกมแนวจำลอง (Simulation) แบบเล่นซ้ำได้ไม่รู้จบ (Sandbox) และเกมแนวยุทธศาสตร์ (Strategy) เพราะเราจะได้เจอคำศัพท์หลากหลายคำและคำศัพท์เหล่านั้นก็จะปรากฏให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ
เกมที่ช่วยให้เราพัฒนาทักษะการเดาความหมายของคำศัพท์จากบริบทในเวลาอันรวดเร็ว ได้แก่ เกมแนวแอ็คชั่น (Action) เกมแนวยิงศัตรู (Shooting) ทั้งแบบบุคคลที่หนึ่ง (First-person) และบุคคลที่สาม (Third-person) และเกมแนวระทึกขวัญ (Thriller) เป็นต้น เพราะผู้เล่นต้องเอาตัวรอดหรือปฏิบัติภารกิจอยู่ตลอดเวลา คำศัพท์ที่ปรากฏก็มาเร็วไปเร็ว บางครั้งอาจเจอคำศัพท์ที่ไม่รู้ความหมาย และไม่มีเวลาสืบค้นความหมายจากพจนานุกรม ผู้เล่นจึงต้องรีบทำความเข้าใจความหมายของคำศัพท์หรือข้อความในเกมโดยอาศัยบริบทเท่าที่มีอยู่ ทักษะนี้ถือว่าเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญที่ผู้เรียนภาษาอังกฤษจำเป็นต้องฝึก เพราะในชีวิตจริง ย่อมมีบ้างบางครั้งที่เราไม่รู้ความหมายของคำทุกคำที่ปรากฏในสื่อต่างๆ จึงต้องเดาความหมายจากบริบทรอบข้าง
ในแง่ของคำศัพท์ ข้อดีของการเล่นเกมนั้นมีอยู่ว่าการป้อนคำศัพท์ต่างๆ เข้าสู่คลังสมองนั้นเกิดจากความสมัครใจของเราเอง ต่างจากคนที่ไปเทคคอร์สเรียนภาษาอังกฤษตามสถาบันต่างๆ ซึ่งเนื้อหาที่ครูป้อนมาให้นั้นอาจเป็นสิ่งที่เราไม่ได้สมัครใจที่จะรับเข้ามาในสมอง ณ เวลานั้น เช่น เราไม่ชอบอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการเมือง แต่ครูก็ป้อนคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการเมืองมาให้ เป็นต้น แน่นอนว่านักเรียนในคลาสมีหลากหลายประเภท ความต้องการก็แตกต่างกัน การที่ครูจะตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนได้ครบทุกคนนั้นเป็นไปได้ยากมาก
รูปจาก www.rockstargames.com
นอกจากเกมจะช่วยให้เราย่อยคำศัพท์ได้ดีแล้ว ยังช่วยให้เราพัฒนาทักษะการอ่านและ/หรือการฟังด้วย แน่นอนว่าผู้เล่นจะได้พยายามอ่านทำความเข้าใจข้อความต่างๆ อยู่เรื่อยๆ และบางครั้งอาจต้องพยายามฟังเสียงสนทนาของตัวละครประกอบไปด้วยเพื่อให้เข้าถึงเนื้อหาของเกมได้ดีขึ้น (หรือรู้สึก “อิน” กับเกมได้มากขึ้นนั่นเอง)
ผมจะขอยกตัวอย่างการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบ Language Immersion โดยอาศัยเกมเป็นเครื่องมือนะครับ ในกรณีนี้จะพูดถึง 2 เกมซึ่งเป็นเกมที่ผมเคยเล่น เกมแรกคือ The Sims 4 ของค่าย Electronic Arts เกมนี้เป็นเกมแนวจำลอง ประเภทเล่นซ้ำได้ไม่รู้จบ หรือเรียกว่า Sandbox เพราะอุปมาเหมือนกระบะทรายที่เด็กๆ สามารถใช้ทรายสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ เช่น ปราสาททราย พอเบื่อก็ทำลายทิ้ง แล้วสร้างอย่างอื่นขึ้นมาแทน เล่นได้ไม่รู้จบ
เกม The Sims 4 ถือว่าดีมากๆ เพราะเป็นการจำลองชีวิต คำศัพท์ส่วนใหญ่จึงเป็นคำศัพท์ที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นคำศัพท์ใกล้ตัวเรานั่นเอง ไม่ว่าจะตู้เย็น โต๊ะ อาหาร ห้องครัว สวนสาธารณะ การออกเดท การท่องเที่ยว หรือการทำงาน เป็นต้น ผู้เล่นสามารถตอบสนองกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ตลอดไม่รู้จักจบจักสิ้น จึงมีโอกาสจำคำศัพท์เหล่านี้ได้ดี คำศัพท์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเข้าไปฝังอยู่ในความจำระยะยาว (long-term memory) ของเราได้ นอกจากนี้ เรายังได้ฝึกทักษะการอ่านไปด้วยในบางครั้ง เพราะจะมีข้อความปรากฏขึ้นมาให้ผู้เล่นตอบสนองอยู่บ้างเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นจะไม่ได้ฝึกทักษะการฟังจากเกมนี้ เพราะเสียงสนทนาของตัวละครไม่ใช่ภาษามนุษย์ทั่วไป แต่เป็นภาษาของชาวซิมส์ในเกมนี้โดยเฉพาะ
รูปจาก www.expertreviews.co.uk
เกมที่สองที่จะพูดถึงคือ Far Cry Primal ของค่าย Ubisoft เป็นเกมแนวแอคชั่นกึ่งผจญภัย (Action-adventure) โดยมีทั้งการต่อสู้กับศัตรูและผจญภัยไปในโลกที่เราไม่รู้จัก ซึ่งในกรณีนี้คือโลกยุคดึกดำบรรพ์ ผู้เล่นจะได้เรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงสัตว์ต่างๆ และวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคนั้น เกมนี้สามารถใช้พัฒนาทักษะการอ่านได้พอสมควร และยังสามารถใช้พัฒนาทักษะการฟังได้ด้วย เพราะเราจะได้ยินเสียงสนทนาของตัวละครอยู่เรื่อยๆ
จะเห็นได้ว่าเกมนั้นมีประโยชน์มากถ้ารู้จักใช้ให้ถูกวิธี ผู้เล่นต้องตั้งเป้าไว้ว่าจะเน้นใช้เกมเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษ และที่สำคัญ ต้องเล่นเกมต่อพอควร อย่าเล่นนานจนเกินไป รวมถึง “ต้องติดตั้งเกมเป็นภาษาอังกฤษ” ด้วยนะครับ ข้อนี้สำคัญมาก มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ได้ประโยชน์ในด้านนี้จากเกม
คอมเมนต์ได้เลย!