เครื่องหมาย semicolon (;) นอกจากจะใช้พิมพ์หน้าหลิวตาแล้ว 😉 ยังมีหน้าที่อื่นที่สำคัญอีกนะ เราอาจจะเคยเรียนมาว่าเราสามารถใช้เครื่องหมาย full stop หรือ period (.) และเครื่องหมาย comma (,) แทน semicolon ได้ในหลายกรณี แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้ semicolon นั้นให้ความรู้สึกต่างออกไปเวลาอ่านและบางครั้งยังช่วยให้ผู้อ่านไม่สับสน
หลักการใช้ semicolon สรุปได้ 4 ข้อดังนี้ครับ
1. ใช้เชื่อมประโยคที่มีความคิดเชื่อมต่อกัน และทั้งสองประโยคเป็นประโยคที่สมบูรณ์
ตัวอย่างเช่น
- Some people eat rice with a fork; others eat it with a spoon.
(บางคนทานข้าวด้วยส้อม แต่บางคนทานด้วยช้อน)
จะเห็นว่าประโยคที่อยู่หลัง semicolon มีความคิดเชื่อมต่อกับประโยคที่อยู่หน้า semicolon ในแง่ที่ว่า ทั้งสองประโยคกล่าวถึงการทานข้าวของคน แต่ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน
- He looked nervous; he kept pacing back and forth.
(เขาดูกระวนกระวายนะ เดินไปเดินมาอยู่หลายรอบเชียว)
เราใช้ semicolon เชื่อมสองประโยคนี้เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงทางความคิด นั่นคือระหว่างการกระวนกระวายและการเดินไปเดินมาซ้ำๆ
จริงๆ แล้วในทั้งสองตัวอย่างนี้เราจะใช้ full stop ก็ได้ไม่ผิดอะไร เพียงแต่ความเชื่อมโยงระหว่างสองประโยคอาจไม่ชัดเจนเท่ากับเวลาใช้ semicolon
2. ใช้เชื่อมประโยคที่ขึ้นต้นด้วยวลีหรือคำวิเศษณ์ที่ใช้เชื่อมความเข้ากับประโยคข้างหน้า
ตัวอย่างวลีเช่น “for example” “that is to say” “as a result” ตัวอย่างคำวิเศษณ์เช่น “however” “therefore” “moreover” เช่นเดียวกับหลักข้อแรก ทั้งสองประโยคต้องเป็นประโยคสมบูรณ์ เรามาดูตัวอย่างกัน
- I went to the bookshop; however, I didn’t find any book I wanted to buy.
(ฉันไปที่ร้านหนังสือ แต่ก็ไม่เจอหนังสือที่ฉันอยากจะซื้อ)
- Your dog came into my house; in addition, he ate my pizza.
(น้องหมาของเธอเข้ามาในบ้านฉัน แล้วยังกินพิซซ่าของฉันเข้าไปอีก)
หรือจะใช้ full stop แทน semicolon ในกรณีเหล่านี้ก็ได้ไม่ว่ากัน
3. ใช้คั่นระหว่างรายชื่อหรือรายการที่มี comma
ตัวอย่างเช่น
- This year I travelled to Istanbul, Turkey; Paris, France; and London, England.
(ปีนี้ฉันเดินทางไปกรุงอิสตันบูลประเทศตุรกี กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส และกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ)
- Our guests are Natalie, a lady from the Netherlands; Oliver, a businessman from Sweden; and Hugo, a professor from France.
(แขกของเราคือ คุณนาตาลีสุภาพสตรีจากเนเธอร์แลนด์ คุณโอลิเวอร์นักธุรกิจจากสวีเดน และคุณฮิวโก้ศาสตราจารย์จากฝรั่งเศส)
กรณีนี้ใช้ full stop แทน semicolon ไม่ได้นะ!
4. หากในประโยคมี comma หลายตัว เราสามารถใช้ semicolon นำหน้าคำเชื่อมได้
เช่น “and” “but” “or” เพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสน
- Some people eat with a fork, spoon and knife; but others, including me, eat with chopsticks.
(บางคนทานข้าวด้วยส้อม ช้อน และมีด แต่บางคนรวมถึงฉันด้วยทานข้าวด้วยตะเกียบ)
- When I finish my work, and I will soon, I’ll come to you; and that is my promise.
(เมื่อผมทำงานเสร็จ ซึ่งก็ใกล้จะเสร็จแล้ว ผมจะไปหาคุณ ผมสัญญานะ)
นอกจากนี้ไม่ว่าเราจะใช้ semicolon ในกรณีใดก็ตาม เราจะไม่เริ่มคำที่ตามหลัง semicolon ด้วยตัวอักษรใหญ่ (capital letter) ซึ่งไม่เหมือนการใช้ full stop
แบบนี้ไม่มีนะครับ I like apples; You like oranges.
ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น I like apples; you like oranges.
จากหลัก 4 ข้อจะเห็นว่าในหลายกรณีเราสามารถใช้ full stop แทน semicolon ได้ อ้าว แล้วเราจะใช้ semicolon ไปทำไม ก็เพื่อต้องการเน้นความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างประโยคยังไงล่ะ หากเราใช้ semicolon อย่างถูกต้อง รับรองว่างานเขียนของเราดูดีมีชาติตระกูลขึ้นแน่นอนครับ 😉
ขอบคุณที่มา Grammar Books
คอมเมนต์ได้เลย!