Grammar-Translation Method เป็นวิธีการเรียนรู้(หรือสอน)ภาษาที่ช่วยพัฒนาแกรมม่า การเขียน และการอ่านไปได้พร้อมๆ กัน ในบทความนี้ ผมจะอธิบายให้คุณผู้อ่านเข้าใจกันว่า Grammar-Translation Method นั้นเขาทำกันอย่างไร และเราจะใช้วิธีนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาแกรมม่า การเขียน และการอ่านของเราได้อย่างไร
รูปจาก corpus.eduhk.hk
ทักษะ 3 อย่าง ได้แก่ ทักษะด้านแกรมม่า (Grammar Skill) ทักษะการเขียน (Writing Skill) และทักษะการอ่าน (Reading Skill) เป็นทักษะที่พัฒนาไปพร้อมๆ กันได้โดยตรง โดยในบรรดาทักษะทั้ง 3 อย่างนี้ ทักษะที่เป็นรากฐานสำคัญก็คือทักษะด้านแกรมม่า เพราะแกรมม่าคือการทำความเข้าใจโครงสร้างในภาษาหนึ่งๆ ว่าคำต่างๆ ที่เราเห็นนั้นมาร้อยเรียงกันจนเกิดเป็นกลุ่มคำหรือประโยคขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อเราเข้าใจโครงสร้างแล้ว เราก็สามารถอ่านทำความเข้าใจกลุ่มคำหรือประโยคที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ทั้งยังเขียนกลุ่มคำหรือประโยคขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจได้ (แต่ก็ต้องฝึกฝนในระดับหนึ่งด้วย)
วิธีหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนาทักษะทั้ง 3 มีชื่อว่า Grammar-Translation Method ความหมายของมันก็ตรงตามชื่อเลยครับ คือ วิธีที่อาศัยแกรมม่ากับการแปล ผู้เรียนภาษาจะได้เรียนหลักแกรมม่าแล้วนำหลักดังกล่าวมาประยุกต์ใช้โดยแปลข้อความจากภาษาที่เรียนไปเป็นภาษาของตัวเอง หรือจากภาษาของตัวเองไปเป็นภาษาที่เรียน โดยผู้เรียนจะได้เห็น pattern เดิมซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดความคุ้นเคยกับหลักแกรมม่านั้นๆ
สมมติว่าบทที่ 2 ในหนังสือเรียนกล่าวถึงเรื่อง possessive pronouns (สรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของ) ได้แก่ mine, yours, his, hers, its, ours และ theirs ผู้เรียนก็จะได้ทำความเข้าใจก่อนว่าคำเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสรรพนาม คือ ใช้แทนสิ่งที่กล่าวถึงไปแล้ว คำเหล่านี้ต่างจาก possessive adjectives (คุณศัพท์แสดงความเป็นเจ้าของ) ได้แก่ my, your, his, her, its, our และ their ซึ่งใช้ขยายคำนาม จากนั้นก็จะมีโจทย์สั่งให้ผู้เรียนแปลประโยคสั้นๆ ที่มี possessive pronoun อยู่ด้วย ทั้งจากภาษาอังกฤษไปเป็นภาษาของตัวเอง และในทางกลับกัน
ตัวอย่างโจทย์ที่ให้แปลจากภาษาอังกฤษไปเป็นภาษาไทย เช่น
- This isn’t my car. It’s yours.
- You talk about your family first. I’ll then talk about mine.
ตัวอย่างโจทย์ที่ให้แปลจากภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษ เช่น
- บ้านของฉันอยู่ใกล้บีทีเอส บ้านของคุณล่ะ
- ผมหาหนังสือของผมไม่เจอ ขอยืมหนังสือของคุณหน่อยได้มั้ย
นอกจากนี้ หนังสือเรียนบางเล่มยังอาจให้ผู้เรียนแปลข้อความที่ยาวขึ้นถึงระดับย่อหน้าอีกด้วย เพื่อให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับ possessive pronouns มากขึ้น
เมื่อผู้เรียนอ่านประโยคที่ต้องแปลจากภาษาอังกฤษไปเป็นภาษาไทย ผู้เรียนจะได้ทำความเข้าใจ possessive pronouns ในบริบท รวมถึงได้พัฒนาทักษะการอ่านทำความเข้าใจประโยคในลักษณะนี้ด้วย ในขณะเดียวกันเมื่อผู้เรียนแปลประโยคจากภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษ ก็จะได้ทำความเข้าใจ possessive pronouns ในบริบท อีกทั้งได้พัฒนาทักษะการเขียนให้ถูกต้องตามหลักการใช้ possessive pronouns ด้วย
นี่คือวิธีที่เรียกว่า Grammar-Translation Method
ในสมัยโบราณ วิธีนี้เป็นหนึ่งในวิธีหลักที่ใช้ในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ โดยมีต้นกำเนิดมาจากการเรียนการสอนภาษาละตินในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 และใช้กันเรื่อยมา ทว่าถูกนักวิชาการสมัยใหม่ปฏิเสธ หลักๆ ก็เพราะวิธีนี้ไม่ช่วยให้ “พูดคล่อง”
แต่นั่นก็เป็นเพราะนักวิชาการกลุ่มนั้นตัดสิน “คุณค่า” ของ Grammar-Translation Method โดยใช้เกณฑ์ความสามารถในการพูดคล่องเป็นหลัก หากผู้เรียนต้องการเน้นพัฒนาทักษะด้านแกรมม่า การเขียน และการอ่าน วิธีนี้ก็ยังคงใช้ได้ผลดีอยู่เสมอ และเมื่อยิ่งใช้วิธีนี้บ่อยๆ ทักษะทั้ง 3 อย่างของผู้อ่านทุกคนก็จะแน่นขึ้น นอกจากนี้ วิธีนี้ยังทำให้เราเป็นคนช่างสังเกต และต่อยอดไปถึงทักษะการระบุข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์ (error identification) ได้อีกด้วย
รูปจาก www.fluentu.com
พอจะเข้าใจ Grammar-Translation Method กันแล้วใช่มั้ยครับ คราวนี้มาลองใช้วิธีนี้กันดูบ้าง ผมจะสมมติว่าผู้อ่านกำลังเรียนเรื่อง Conditionals แบบที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ กล่าวคือ ถ้าเกิดสิ่งหนึ่งขึ้น ก็จะมีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเสมอ กรณีนี้ If-clause จะอยู่ในรูป Present Simple ส่วน clause ที่อยู่หลัง If-clause ก็จะอยู่ในรูป Present Simple ด้วย เช่น
If you eat too much, you become a bear.
ถ้ากินมากเกินไป คุณก็จะกลายเป็นหมี
If he turns to the east at dawn, he sees the sun rising over the horizon.
ถ้าเขาหันไปทางทิศตะวันออกในยามรุ่งอรุณ เขาก็จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือเส้นขอบฟ้า
If Anne boils the water, it gets hot.
ถ้าแอนต้มน้ำ น้ำก็จะร้อน
คราวนี้ผมจะให้โจทย์แปลจากภาษาอังกฤษไปเป็นภาษาไทย กับแปลจากภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษ อย่างละ 2 ประโยค
อังกฤษไปเป็นไทย
- If she wears her coat, her body gets warm.
- If they eat cyanide, they die.
ไทยไปเป็นอังกฤษ
- ถ้าเขาไม่ดื่มน้ำ เขาจะตาย
- ถ้าพวกเด็กทารกหิว พวกเขาจะร้องไห้
หลังจากลองแปลกันแล้ว ก็มาเช็คคำตอบกันครับ โจทย์ที่ให้แปลจากภาษาอังกฤษไปเป็นภาษาไทย ข้อแรก แปลได้ว่า ถ้าเธอสวมเสื้อโค้ต ร่างกายของเธอก็จะอบอุ่น ส่วนข้อสอง แปลได้ว่า ถ้าพวกเขากินไซยาไนด์ พวกเขาก็จะตาย
ส่วนโจทย์ที่ให้แปลจากภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษ ข้อแรก ตอบว่า If he doesn’t drink water, he dies. กับข้อสอง ตอบว่า If the babies are hungry, they cry.
ในระหว่างที่เช็คคำตอบ ก็ให้สังเกตด้วยว่า If-clause กับ clause ที่ตามมานั้นอยู่ในรูปของ Present Simple ทั้งคู่ แล้วจำรูปแบบนี้ให้ขึ้นใจ พอถึงเวลาต้องเอาไปประยุกต์ใช้ในการอ่านและการเขียนจะได้เข้าใจประโยคคล้ายๆ กันนี้ได้อย่างรวดเร็ว
นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนของ Grammar-Translation Method นะครับ ผมเชื่อว่าถ้าผู้อ่านเอาวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้บ่อยๆ ทักษะแกรมม่า การเขียน และการอ่าน (และอาจรวมถึงทักษะการหาข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์) ของผู้อ่านจะต้องแน่นขึ้นอย่างแน่นอน
คอมเมนต์ได้เลย!