ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อสอบ กพ ภาค ก ได้เพิ่มส่วนที่ทดสอบความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษเข้ามาด้วย ผู้ที่อยากเป็นข้าราชการในตำแหน่งที่ต้องมีผลสอบ กพ ภาค ก (บางตำแหน่งไม่ต้องสอบภาค ก) จึงต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคที่จู่ๆ ก็เพิ่มเข้ามา นั่นก็คือข้อสอบภาษาอังกฤษ ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับข้อสอบดังกล่าวด้วย โดยผู้เข้าสอบต้องทำคะแนนให้ได้ขั้นต่ำ 50% จากคะแนนเต็ม 50 คะแนน จึงจะถือว่าผ่าน
แม้ว่าเกณฑ์จะไม่ได้สูงมาก แต่ก็ประมาทไม่ได้นะครับ ถ้าภาษาอังกฤษของเรากระท่อนกระแท่นแล้วล่ะก็ เราจะไปสู้คนอื่นๆ ได้ยังไง ถึงแม้ว่าจะเลือกคำตอบไปแบบมั่วๆ แล้วฟลุ๊คผ่าน คำถามก็คือ เราจะไม่ต้องเจอภาษาอังกฤษอีกเลยตลอดชีวิตอย่างนั้นหรือ? ถ้าวันดีคืนดีมีหน่วยงานจากต่างประเทศมาร่วมมือกับหน่วยงานของเราเพื่อดำเนินโครงการบางอย่าง หรือหากทำงานในตำแหน่งที่ต้องคอยต้อนรับและให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปอยู่เป็นประจำ แล้วมีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อราชการกับเราด้วย เราก็จะต้องเผชิญหน้ากับ “บททดสอบภาษาอังกฤษ” อีกครั้งอยู่ดี คงไม่มีใครอยาก “เสียหน้า” หรือทำให้ระบบราชการของไทยเสียชื่อหรอก จริงมั้ยครับ
นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึงต้องมีการนำภาษาอังกฤษมาทดสอบใน ภาค ก ด้วย ถ้ามองในแง่ดีก็คือเป็นการตั้งเกณฑ์เอาไว้เพื่อให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองไปให้ได้ ใครที่มั่นใจว่าผ่านเกณฑ์อยู่แล้ว ก็ถือว่าดีไป แต่คนที่ภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรงต้องเตรียมตัวเอาไว้ให้มาก
ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าการเตรียมตัวสอบภาษาอังกฤษสำหรับข้าราชการนั้นสามารถทำยังไงได้บ้าง
โครงสร้างข้อสอบ กพ ภาษาอังกฤษ
ข้อสอบ กพ ภาษาอังกฤษ แบ่งออกเป็น 4 พาร์ท คือ
- Conversation ทดสอบความรู้ความสามารถในการพูดโต้ตอบในการสนทนา
- Grammar ทดสอบความรู้เกี่ยวกับไวยากรณ์และโครงสร้างภาษา
- Vocabulary ทดสอบความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ โดยมีทั้งแบบที่กำหนดให้ตัวเลือกแต่ละตัวมีคำศัพท์ความหมายต่างกัน และแบบที่กำหนดให้ตัวเลือกแต่ละตัวมีคำศัพท์ความหมายคล้ายกัน ซึ่งในกรณีหลังจะเป็นการทดสอบความสามารถในการเลือกใช้คำ (word choice) ให้ตรงตามบริบท
- Reading ทดสอบความสามารถในการอ่าน มีทั้งบทความสั้นประมาณครึ่งหน้า และบทความยาวประมาณ 1 หน้าครึ่ง มักเป็นอีเมลและบทความสารคดีทั่วไป
ในการเตรียมตัวสอบ ผู้เขียนขอนำเสนอเคล็ดลับ 5 ประการ ดังนี้
1. หาแนวข้อสอบมาฝึกทำ
ในปัจจุบันมีแนวข้อสอบมากมายหลายฉบับบนเว็บไซต์ต่างๆ เราสามารถพิมพ์ค้นหาใน Google และดาวน์โหลดมาลองฝึกทำดูได้ จากที่ผู้เขียนได้สำรวจมาพบว่า ส่วนใหญ่แล้ว รูปแบบและระดับความยากของแนวข้อสอบจะไม่ต่างจากของข้อสอบจริงมากนัก ดังนั้น การฝึกทำแนวข้อสอบบ่อยๆ จึงช่วยให้เราคาดเดาได้ว่าข้อสอบจริงจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และมีความยากมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ยังอาจช่วยให้เราทำข้อสอบจริงได้เร็วขึ้นอีกนิด เพราะเราคุ้นเคยกับรูปแบบของข้อสอบอยู่แล้ว จึงไม่ต้องมานั่งเสียเวลาทำความเข้าใจว่าโจทย์ต้องการให้เราทำอะไร
2. ท่องศัพท์เป็นประจำ
การท่องศัพท์เป็นประจำจะช่วยให้เราจำความหมายของคำศัพท์ต่างๆ ได้ขึ้นใจ แม้จะไม่ช่วยให้จำได้ในระยะยาว แต่ก็ยังดีกว่าไม่ท่องเลย
การเตรียมคำศัพท์สำหรับท่องจำนั้นสามารถทำได้มากกว่า 1 วิธี วิธีแรกคือดึงคำศัพท์ที่เราไม่รู้ความหมายออกมาจากแนวข้อสอบ หลังจากค้นหาความหมายจากพจนานุกรมจนครบทุกคำแล้ว ก็ท่องจำบ่อยๆ หรือจะนำคำศัพท์เหล่านั้นมาฝึกแต่งประโยคด้วยก็ได้ หากทำได้ ก็จะช่วยให้จำความหมายได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น
อีกวิธีหนึ่งคือ หาหนังสือที่รวบรวมคำศัพท์ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกับคำศัพท์ที่ปรากฏในแนวข้อสอบ (หรือในข้อสอบจริง หากใครเคยไปสอบมาแล้ว แต่ยังไม่ผ่าน) จากการประเมินของผู้เขียนพบว่าคำศัพท์ที่ปรากฏอยู่ในแนวข้อสอบ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการทดสอบทักษะ Reading จะอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างระดับ Intermediate (กลาง) และระดับ Upper-intermediate (กลางตอนปลาย) แต่หนักไปทาง Intermediate หรือถ้าเทียบตามกรอบ CEFR ก็อยู่ที่ระดับ B1 ถึง B2 แต่หนักไปทาง B1
ในกรณีนี้ผู้เขียนขอแนะนำหนังสือ English Vocabulary in Use ซึ่งมีทั้งระดับ Intermediate และ Upper-intermediate โดยหนังสือเซ็ตนี้จะแบ่งคำศัพท์ออกเป็นหมวดต่างๆ และมีแบบฝึกหัดทดสอบความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ในแต่ละหมวด (แต่ละบท) ด้วย ยิ่งทำมาก ก็ยิ่งมีโอกาสจำคำศัพท์ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับข้อสอบ กพ ภาษาอังกฤษได้มาก เราก็จะทำข้อสอบในส่วนที่เป็น Reading ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. จดจำศัพท์สำนวนพื้นฐานที่ใช้พูดโต้ตอบในการสนทนา
ข้อสอบ กพ พาร์ทแรกเป็นการทดสอบความสามารถในการพูดโต้ตอบในระหว่างการสนทนา ผู้สอบจะไม่ได้พูดจริงๆ แต่ต้องเลือกประโยคหรือวลีที่เหมาะสมมาเติมลงในช่องว่าง คำว่า “เหมาะสม” ในที่นี้หมายความว่า สอดคล้องและสมเหตุสมผลกับประโยคหรือวลีก่อนหน้า พาร์ทไม่เพียงแต่วัดความจำและความเข้าใจ แต่ยังวัดการใช้เหตุผล (สติสตางค์อยู่ครบมั้ย) อีกด้วย
ถ้ามีคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า “เมื่อวานไปเที่ยวกับหัวหน้ามาเหรอ เป็นยังไงบ้าง” แล้วเราตอบไปว่า “อ๋อ ตอนนี้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาสร้างเขื่อน” ก็คงไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสม จริงมั้ยครับ แต่ถ้าไม่รู้ศัพท์สำนวนพื้นฐาน ก็มีโอกาสที่เราจะเลือกคำตอบผิด ในกรณีนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้ลองไปหาซื้อหนังสือที่รวบรวมศัพท์สำนวนที่ใช้เมื่อสนทนาในสถานการณ์ต่างๆ ที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น การสั่งอาหาร การแลกเปลี่ยนเงินตรา การช็อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ต การสนทนาในที่ทำงาน การสัมภาษณ์งาน เป็นต้น เราเรียกหนังสือประเภทนี้ว่า phrasebook แปลตามตัวได้ว่า หนังสือรวมวลี(ที่ใช้ในการสนทนา) หาไม่ยากครับ เพราะมีขายอยู่ตามร้านหนังสือทั่วไป ทั้งเล็กและใหญ่ เรียกว่ามีให้เห็นเกลื่อนกลาดเลยก็ว่าได้ แต่อาจต้องเลือกดีๆ สักหน่อย ควรมองหาหนังสือที่ครอบคลุมสถานการณ์หลากหลายมากที่สุด เพื่อให้คุ้มกับเงินที่เสียไป
4. ฝึกทำแบบฝึกหัดไวยากรณ์ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ต่อจากการทดสอบการพูดสนทนาก็คือการทดสอบความรู้ด้านไวยากรณ์และโครงสร้างภาษา ระดับความรู้ด้านไวยากรณ์จะอยู่ในระดับ Intermediate หัวข้อที่มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ออกสอบ ได้แก่
- Tenses (เน้น 9 Tenses จากทั้งหมด 12 Tenses คือ Present Simple, Present Continuous, Present Perfect, Past Simple, Past Continuous, Past Perfect, Future Simple, Future Continuous, Future Perfect)
- If-clause
- Prepositions – การเลือกใช้ preposition ให้เหมาะสมกับ verb หรือ adjective เช่น interested ต้องตามด้วย in หรือ listen ตามด้วย to เป็นต้น
- Conjunctions
- Participles (คำที่มีหน้าตาเหมือนกริยาเติม ing แต่ทำหน้าที่เป็น adjective และ adverb อย่างใดอย่างหนึ่ง)
- Gerunds (คำที่มีหน้าตาเหมือนกริยาเติม ing แต่ทำหน้าที่เป็นคำนาม)
- Adjectives
- Adverbs
- Pronouns
- Subject-verb agreement (ความสอดคล้องกันระหว่าง subject และ verb)
- Question tags
5. ฝึกฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษเป็นประจำ (ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี)
หลายๆ คนอาจคิดว่า ฝึกพูดกับฝึกอ่านยังพอเข้าใจได้ แต่ฝึกฟังกับฝึกเขียนเนี่ยจำเป็นด้วยหรือ ข้อสอบไม่ได้ทดสอบทักษะการฟังกับการเขียนนี่นา ใครที่คิดแบบนี้ ผู้เขียนอยากจะขอให้ปรับมุมมองความคิดเสียใหม่ครับ
ทักษะการพูดกับทักษะการอ่านจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยทักษะการฟังกับทักษะการเขียน คนเราจะพูดได้เก่งก็ต้องฟังบ่อยๆ หรือจะอ่านได้คล่องก็ต้องฝึกเขียนบ่อยๆ ทักษะทั้ง 4 เชื่อมโยงถึงกันหมด การเน้นฝึกเฉพาะบางทักษะจะไม่ช่วยให้ทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าเป็นไปได้ ผู้เขียนขอแนะนำให้ฝึกทักษะเหล่านี้เป็นประจำล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี เพราะภาษาอังกฤษไม่เหมือนกับคณิตศาสตร์ แค่เข้าใจหลักการและจำสูตรได้ไม่ได้ช่วยให้เก่งภาษาอังกฤษ ที่สำคัญคือ การฝึกฝนทักษะทั้ง 4 เป็นประจำโดยใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีเป็นวิธีที่ “ยั่งยืน” ที่สุด เพราะทักษะเหล่านี้จะฝังติดตัวเราไปอีกนาน แม้ว่าจะสอบภาษาอังกฤษผ่านแล้วก็ตาม
ความขยันและความพยายามคือกุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งตัดใจหรือท้อไปเสียก่อน หากเตรียมตัวเป็นอย่างดี ก็จะพร้อมรับมือกับข้อสอบภาษาอังกฤษอย่างแน่นอนครับ
คอมเมนต์ได้เลย!